วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภาษาของประเทศต่างๆ ในอาเซียน และผลกระทบทางด้านภาษาในประเทศไทยกับอาเซียน


ภาษาของประเทศต่างๆ ในอาเซียน



1.บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam) 

          ประเทศบรูไน มีชื่อเป็นทางการว่า "เนการาบรูไนดารุสซาลาม" มีเมือง "บันดาร์เสรีเบกาวัน" เป็นเมืองหลวง ถือเป็นประเทศที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เพราะมีพื้นที่ประมาณ 5,765 ตารางกิโลเมตร ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีประชากร 381,371 คน (ข้อมูลปี พ.ศ.2550) โดยประชากรเกือบ 70% นับถือศาสนาอิสลาม และ
ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ


2.ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

          เมืองหลวงคือ กรุงพนมเปญ เป็นประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย มีประชากร 14 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2550) โดยประชากรกว่า 80% อาศัยอยู่ในชนบท 95% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ แต่ก็มีหลายคนที่พูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเวียดนามได้



3.สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)

          เมืองหลวงคือ จาการ์ตา ถือเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่ 1,919,440 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากถึง 240 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2553) โดย 61% อาศัยอยู่บนเกาะชวา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และ
ใช้ภาษา Bahasa Indonesia เป็นภาษาราชการ


4.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) (The Lao People's Democratic Republic of Lao PDR)

          เมืองหลวงคือ เวียงจันทน์ ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก โดยประเทศลาวมีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย คือ 236,800 ตารางกิโลเมตร พื้นที่กว่า 90% เป็นภูเขาและที่ราบสูง และไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเล ปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม โดยมีประชากร 6.4 ล้านคน
ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาหลัก แต่ก็มีคนที่พูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสได้ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ 


5.ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)

          เมืองหลวงคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร แบ่งเป็นมาเลเซียตะวันตกคาบสมุทรมลายู และมาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ทั้งประเทศมีพื้นที่ 329,758 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 26.24 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ
ใช้ภาษา BahasaMelayuเป็นภาษาราชการ


6.สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)

          เมืองหลวงคือ กรุงมะนิลา ประกอบด้วยเกาะขนาดต่าง ๆ รวม 7,107 เกาะ โดยมีพื้นที่ดิน 298.170 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 92 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2553) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นอันดับ 4 ของโลก
มีการใช้ภาษาในประเทศมากถึง 170 ภาษา แต่ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาตากาลอก เป็นภาษาราชการ


7.สาธารณรัฐสิงคโปร์ (The Republic of Singapore)

          เมืองหลวงคือ กรุงสิงคโปร์ ตั้งอยู่บนตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางเรือของอาเซียน จึงเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในย่านนี้ แม้จะมีพื้นที่ราว 699 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น มีประชากร 4.48 ล้านคน
ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ แต่มีภาษามาเลย์เป็นภาษาประจำชาติ ปัจจุบันใช้การปกครองแบบสาธารณรัฐ (ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว) 


8.ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)

          เมืองหลวงคือกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 513,115.02 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 77 จังหวัด มีประชากร 65.4 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2553) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และ
ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขของประเทศ


9.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam)

          เมืองหลวงคือ กรุงฮานอย มีพื้นที่ 331,689 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจถึงเมื่อปี พ.ศ.2553 มีประชากรประมาณ 88 ล้านคน ประมาณ 25% อาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ ปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 
ภาษาทางการคือ ภาษาเวียดนาม ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ คือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน 


10.สหภาพพม่า (Union of Myanmar)

          มีเมืองหลวงคือ เนปิดอว ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันออก โดยทั้งประเทศมีพื้นที่ประมาณ 678,500 ตารางกิโลเมตร ประชากร 48 ล้านคน กว่า 90% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท หรือหินยาน และ
ใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ



ผลกระทบทางด้านภาษาในประเทศไทยกับอาเซียน

             
            กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English” | “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ ความหมายที่เป็นที่เข้าใจในขั้นต้นก็เป็นเพียงเรื่องของทางราชการและภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องปรกติธรรมดาของการทำงานในโลกปัจจุบันอยู่แล้ว

            แม้จะหมายความเพียงว่าเป็นการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันในการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ตลอดจนองค์กรและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทว่าความหมายของบทบัญญัติที่ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอาเซียนสำหรับการทำงานร่วมกันนั้นมีความหมายกว้างไกลไปถึงทุกส่วนของประชาคมอาเซียนด้วย

             หมายความว่าประชาชนพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น นอกเหนือจากภาษาประจำชาติหรือภาษาประจำถิ่นของแต่ละชาติแต่ละชุมชนเอง เพราะไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะต้องไปมาหาสู่ร่วมประชุมปรึกษาหารือและสื่อสารกัน และไม่เฉพาะนักธุรกิจและคนทำมาค้าขายระหว่างประเทศเท่านั้นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและการติดต่อธุรกิจระหว่างกัน

              แต่ในเมื่อทุกคนที่อยู่ในอาเซียนล้วนแล้วแต่เป็นพลเมืองของอาเซียนด้วยกันทุกคน และทุกคนจะต้องไปมาหาสู่ เดินทางท่องเที่ยว ทำความรู้จักคุ้นเคยต่อกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญทุกคนจะต้องเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหางานทำและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์สู่โลกกว้างของภูมิภาคอาเซียน โลกแห่งมิตรไมตรีที่ขยายกว้างไร้พรมแดน โลกแห่งการแข่งขันไร้ขอบเขตภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม
   
ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของชาวอาเซียน เคียงคู่ภาษาที่หนึ่งอันเป็นภาษาประจำชาติของแต่ละคน
                 ส่วนภาษาที่สามของชาวอาเซียนนั้นก็คือภาษาอื่นในอาเซียนภาษาหนึ่งภาษาใดหรือมากว่าหนึ่งภาษา เช่นภาษามาเลย์ ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาจีน ภาษาลาว ภาษาขแมร์ ภาษาเวียดนาม ภาษาพม่า ภาษาฟิลิปปิน ภาษาฮินดี และ ภาษาทมิฬ นอกจากนั้นยังมีภาษาของประเทศนอกภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศคู่เจรจาสำคัญของอาเซียนอีกแปดประเทศคือ: จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ซึ่งหมายความว่าจะต้องเรียนรู้ภาษาที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ คือ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษารัสเซีย และภาษาที่ใช้ในอินเดียอีกหลายภาษา (ฮินดี, อูรดู, ทมิฬ, เบงกาลี ฯลฯ)
   
ภาษาอังกฤษ: ในฐานะภาษาสำคัญของโลก ภาษาอังกฤษปัจจุบันคือภาษานานาชาติ เป็นภาษากลางของโลก ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เป็นภาษาที่มนุษย์บนโลกใช้ติดต่อระหว่างกันเป็นหลัก ไม่ว่าแต่ละคนจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาประจำชาติ เมื่อต้องติดต่อกับคนอื่นที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมกันทุกคนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ทุกชาติทุกภาษาจึงบรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองลงมาจากภาษาประจำชาติ เป็นแกนหลักของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาตลอดชีวิต

        แต่เมื่ออาเซียนกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็น “working language” เราจึงต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ตามความหมายของถ้อยคำว่าเป็น ภาษาทำงาน ของทุกคนในอาเซียน ทุกคนที่ ทำงานเกี่ยวกับอาเซียน”, “ทำงานในอาเซียน”, ทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน”, “มีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน”, “แสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน”, “มีเพื่อนในอาเซียน และ เดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน
   
ทุกคนต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี  ไปจนถึงเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ชาวบ้านทั่วไป นักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชน ฯลฯ

คนทำงานเกี่ยวกับอาเซียน :

           คนที่ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องของอาเซียน หมายถึงตั้งแต่พนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ไปจนถึงคนทำงานในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ทุกคนต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

           ข้าราชการไทยทุกกระทรวงทบวงกรม จะต้องมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ และใช้ได้ดีด้วย เพราะงานเกี่ยวกับอาเซียนนั้นเกี่ยวกับทุกกระทรวงทบวงกรม จากนี้ไปควรเป็นนโยบายของรัฐบาลในการบรรจุข้าราชการทุกระดับทุกหน่วยงานโดยคำนึงถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ ไม่ว่าตำแหน่งราชการนั้นๆจะเกี่ยวข้องกับงานอาเซียนโดยตรงหรือไม่ก็ตาม เพราะถึงอย่างไรงานทุกระดับในหน่วยราชการจะต้องเกี่ยวข้องกับอาเซียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั้งสิ้น รัฐบาลควรมี นโยบายระยะสั้นเฉพาะหน้าในช่วงเวลาก่อนถึงปี 2558/2015 อันเป็นปีบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียน ว่าจะปรับขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของข้าราชทุกคนทุกระดับแล้วปรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนข้าราชการที่พัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้แล้วให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ให้ได้เงินเดือนสูงพอหรือสูงเหนือเงินเดือนปรกติในระบบราชการปัจจุบัน สูงจนเป็นที่ดึงดูดคนที่มีขีดความสามารถสูงหันมาสนใจรับราชการโดยไม่ลังเลว่าจะไปทำงานภาคเอกชนดีกว่าหรือไม่ สูงจนมาตรฐานการตอบแทนภาครัฐเทียบเท่าหรือดีกว่าภาคเอกชน

              นโยบายระยะสั้นเฉพาะหน้าของระบบราชการก็คือพัฒนาบุคคลากรที่พัฒนาได้แล้วปรับเงินเดือนส่วนที่พัฒนาได้มาตรฐาน ที่เหลือก็ค่อยๆพัฒนาและปรับผลตอบแทนต่อไปในระยะยาว ข้าราชการที่ไม่ปรับตัวก็ให้อยู่อย่างปรกติธรรมดาเหมือนเดิมแบบชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงต่อไป เนื่องจากการเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ได้เสมอเหมือนกันทุกคน ทุกวัย ทุกวัฒนธรรม ไม่เกี่ยวกับภูมิปัญญาพิเศษใดๆ ใครๆก็เรียนภาษาใหม่ได้ ใครๆก็เรียนภาษาอังกฤษได้- ถ้าอยากจะเรียน -ไม่มีข้ออ้างว่ายากจน เรียนไม่ไหว หรืออายุมากแล้ว ลิ้นแข็ง เรียนไม่ได้แล้ว ภาษาเป็นทักษะ เรียนรู้ได้ด้วยการฝึกฝน ใช้มากๆ ใช้บ่อยๆ เท่านั้นเอง ถ้าขยันเรียนก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ในเวลาไม่นาน วิธีสร้างแรงจูงใจโดยการปรับขึ้นเงินเดือนเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในระบบราชการจึงเป็นแรงจูงใจอย่างมีเหตุผลดีในการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของข้าราชไทยยุคประชาคมอาเซียน

               นโยบายระยะยาว ก็ควรเป็นการให้ขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นมาตรฐานกลางของระบบราชการโดยปรับเงินเดือนและผลตอบแทนอื่นๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ หากทำเช่นว่านี้ได้ก็เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมในการปรับฐานเงินเดือนและผลตอบแทนให้ข้าราชการทุกคน

                พนักงานประจำสำนักเลขาธิการอาเซียน สำหรับคนที่ต้องการจะไปทำงานเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรงในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา หรือสำนักงานสาขาในประเทศอื่นที่จะมีในอนาคต ตลอดจนผู้ที่จะไปทำงานให้กับรัฐบาลประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียน กล่าวโดยตรงก็คือคนที่จะไปรับราชการในประเทศอาเซียนอื่น ซึ่งในอนาคตจะเป็นเรื่องจริงที่เป็นไปได้ เพราะแต่ละรัฐสมาชิกจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้รู้เกี่ยวกับอาเซียนและรัฐสมาชิกอื่นในระบบการทำงานของราชการ (หรือรัฐการ) ของตน ประเทศในอาเซียนจะมีความต้องการว่าจ้างคนไทยที่มีความรู้ความสามารถเรื่องไทยและเรื่องอาเซียนให้เข้ารับราชการในประเทศของตน        ชาวไทยที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆให้กับชีวิตก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษก่อนเรื่องอื่นใด ในยุคอาณานิคม แม้ไทยจะมิได้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่รัฐบาลสยามก็จ้างชาวอังกฤษมาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก และจ้างชาวดัทช์มารับราชการในกรมชลประทาน และ จ้างชาวอังกฤษมาเป็นครูในพระราชวังและในระบบการศึกษาพื้นฐาน ในปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศของไทยและของชาติสมาชิกอาเซียนอื่นก็ล้วนแล้วแต่มีกรมกิจการอาเซียนด้่วยกันทั้งนั้น และย่อมเป็นไปได้ที่แต่ละหน่วยงานจะมีความจำเป็นต้องจ้างชาวไทยเข้าสู่ระบบราชการของแต่ละประเทศด้วย ในทางกลับกันระบบราชการไทยก็จะมีความจำเป็นที่ต้องจ้างชาวลาว เขมร พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ มาทำงานในกระทรวงต่างๆของไทย ทำนองเดียวกันกับที่สถาบันการศึกษาต่างๆจ้างครูชาวต่างชาติ

ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยจะต้องพัฒนาตนเองในการเรียนรู้ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ในประชาคมอาเซียน ณ วันนี้เป็นต้นไป

(ภาษาอังกฤษ สำหรับ : คนทำงานในอาเซียน คนทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน คนมีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน คนแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน คนมีเพื่อนในอาเซียน คนเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน)

            ♥♥ดังนั้นในการเปิดอาเซียนภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของอาเซียน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่ค่อยเก่งในเรื่องภาษา ประเทศไทยจึงต้องเร่งศึกษาเกี่ยวกับภาษาอังกฤษให้มากขึ้น เพื่อสามารถสื่อสารกับประเทศอื่นในอาเซียนได้เป็นอย่างดี♥♥♥

แหล่งอ้างอิงข้อมูล